ผมได้มีโอกาสอ่านบทความของ Paul Krugman ด้วยความที่ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพส่งมาให้อ่านว่า คนนี้เขียนต้องฟัง ผมเป็นคนเปิดใจอยู่แล้วครับ แล้วผมก็สนับสนุนให้ทุกคนเปิดใจฟังคนที่คิดต่างหรือเห็นต่างกับเรานะครับ มันเป็นเรื่องที่ทำให้เราได้พัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าใครไม่รู้จัก Paul Krugman เค้าคือคนที่พูดถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมโลกใน Master Class ครับ แล้วก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวิทยาศาสตร์เศรษฐศาสตร์ ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ
ผมชอบ Paul Krugman นะ แล้วก็คิดว่าเป็นอาจารย์ใครหลายๆ คนด้วย มาฟังมุมมองของ Paul Krugman ที่มีต่อบิทคอยน์กันว่าเค้าคิดยังไง ด้วยความที่คนที่ติดตามแก เรียกร้องเยอะมากอยากฟังความเห็นของเค้าเกี่ยวกับบิทคอยน์

เริ่มต้นด้วย Paul Krugman เค้าเขียนถึงประวัติของบิทคอยน์และระบบที่ใช้พิสูจน์ถึงความเป็นเจ้าของ ระบบที่ทำลายได้ยาก จนมาถึงปัจจุบันที่เราใช้บิทคอยน์ซื้อบ้าน รถ จ่ายค่าใช้จ่ายรวมไปถึงลงทุน แล้วก็อื่น ๆ อีก
แต่ใน 12 ปีที่ผ่านมาทำไมบิทคอยน์ถึงไม่ได้เข้ามามีบทบาทใดๆ เลยในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เหมือนกับที่เรามักจะได้ยินว่ามันเอาไปใช้จ่ายได้ (means of payment) นอกจากการเอาไว้เก็งกำไร และเอาไว้ใช้ในกิจกรรมทางการฟอกเงิน ล่าสุดที่เอาไว้ใช้เรียกค่าไถ่จากเหตุการณ์ยึดระบบควบคุมท่อส่งนำ้มัน Colonial Pipeline
12 ปีที่แล้วมันมีเทคโนโลยีอีกหลายอย่าง เช่น Venmo(ปัจจุบันรองรับคริปโตแล้วนะ) ที่เอาไว้แชร์ค่าใช้จ่ายกันเวลาไปกินอาหารนอกบ้าน หรือซื้อผลไม้จากร้านข้างทาง ดูอย่าง iPad ที่ถูกสร้างขึ้นมาในปี 2010 หรือ Zoom ที่เกิดขึ้นมาในปี 2012 หลาย ๆ เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวัน แต่ทำไมคริปโตเคอเรนซี่ถึงยังไม่ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตเราเลย

เทคโนโลยีนี้มันแก้ปัญหาอะไร มันทำให้ถูกลง ง่ายขึ้นหรือทำอะไรได้ดีกว่าเดิมเมื่อใช้เทคโนโลยีนี้ ผมยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนเลย
Paul Krugman กล่าว
ทำไมนักลงทุนถึงยอมที่จะจ่ายเงินก้อนโตเพื่อครอบครองดิจิทัลโทเค็น ในขณะที่ราคามันแกว่งขนาดนั้น ถึงแม้ว่ามูลค่ามันจะขึ้นไปถึง 2 ล้านล้านเหรียญดอลล่าสหรัฐ และครึ่งนึงของมูลค่าถูกครอบครองด้วยบริษัทของสหรัฐอเมริกา
ทำไมคนถึงยอมจ่ายกับสิ่งที่มันดูเหมือนว่ามันทำอะไรไม่ได้เลย แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเลยก็คือคนที่เข้ามาลงทุนก่อนได้เงินไปมากมาย และประสบความสำเร็จในการดึงนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามา
ฟังดูมันเหมือนฟองสบู่ของการเก็งกำไรหรือไม่ก็แชร์ลูกโซ่ ซึ่งฟองสบู่ของการเก็งกำไรส่งผลกับแชร์ลูกโซ่โดยธรรมชาติของมัน และมันก็มีรูปแบบของแชร์ลูกโซ่ที่อยู่ได้นานในอดีตเช่น Bernie Madoff ที่ออกมาหลอกลวงกว่าสองทศวรรต ซึ่งจริงๆ อาจนานกว่านั้นหากไม่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจก่อน
แชร์ลูกโซ่ที่อยู่ได้นานต้องอาศัยเรื่องเล่า และเรื่องเล่าของคริปโตมันทำได้อย่างดีทีเดียว
Paul Krugman กล่าว

ข้อแรกกลุ่มคนที่จุดกระแสเรื่องคริปโต เป็นกลุ่มคนที่พล่ามเรื่องเทคโนโลยีได้ดี ใช้ศัพท์แสงทางเทคนิคเพื่อที่จะโน้มน้าวคนอื่นได้เห็นถึงการนำเสนอวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี ซึ่งจริง ๆ แล้ว Blockchain มันไม่ใช่เรื่องใหม่ และยังนำมันเอาไปใช้ประโยชน์จริง ๆ ไม่ได้ด้วยซ้ำ
ข้อสองมันถูกใช้เป็นเครื่องมือของพวกคลั่งเสรีนิยม เอามาทิ่มแทงระบบเงินกระดาษ ว่ารัฐเป็นคนพิมพ์เอง ไม่มีอะไรที่เป็นสิ่งที่จับต้องได้ค้ำ มันจะต้องล่มสลายในวันใดวันนึง ซึ่งก็จริง แต่ก็ดูสิ ผลเป็นยังไงล่ะตั้งแต่ยกเลิก Gold Standard ที่ใช้มาเก้าสิบปีที่แล้ว ก็ยังดีอยู่
งั้นคริปโตเคอเรนซี่พวกนี้กำลังจะพังเร็วๆ นี้ใช่ไหม ผมบอกได้เลยว่าไม่จำเป็น แต่สุดท้ายแล้วบิทคอยน์กับทองก็จะเจอปัญหาเดียวกัน ลองดูสิไม่มีใครเอาทองไปซื้อข้าวของถึงแม้ว่ามันจะเป็นของที่มีค่ามากเนื่องจากคุณสมบัติของมันเอง ซึ่งมันไม่ได้มีคุณสมบัติที่ดีของความเป็นสกุลเงิน(Currency) ที่มีประโยชน์ใช้ได้จริงๆ ไม่มีใครหิ้วทองแท่งไปซื้อบ้านซื้อรถจริงไหม
Paul Krugman กล่าว

ย้อนกลับไปตอนปี 1924 สิ่งที่ John Maynard Keynes พูดไว้ไม่ผิดเพี้ยนเลย เค้าเรียก Gold Standard ว่า “Barbarous relic” เหมือนคนเถื่อนที่บูชาหินสีเหลือง ๆ และความคิดนั้นมันยังคงมีอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่ คริปโตเคอเรนซี่ หนึ่งหรือสองสกุลจะมีอายุยืนยาวแบบนั้นเช่นกัน
แต่ก็ไม่แน่ถ้าหากภาครัฐเข้ามาจัดการกับพวกที่ใช้คริปโตเคอเรนซี่กระทำความผิด หรือประสงค์ไม่ดี ซึ่งไม่เคยคิดทำกับทองมาก่อน และทำให้มันไม่ได้ไปถึงฝั่งฝันของการมีสภาพเป็นเหมือนทองอย่างที่ใครหลาย ๆ คนคาดหวังไว้
แต่ไม่มีอะไรต้องกังวลมากนักเพราะบิทคอยน์ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือมีความสำคัญในบทบาทเชิงเศรษฐกิจเลย และมันก็ไม่มีผลอะไรกับคนที่ไม่ได้เข้าไปเล่นในเกมส์ของคริปโต
ส่วนตัวผมไม่ได้มีความเห็นขัดกับ Paul Krugman เลยแม้แต่น้อย
แล้วก็ไม่แปลกใจด้วยทำไมเค้าถึงเขียนแบบนี้ มันมีหลายๆเรื่องที่เค้าไม่ได้พูดถึงแล้วก็ไม่ได้แตะมัน เพราะเค้าไม่อยากแตะมัน ถ้ามองผ่านแว่นธุรกรรมทางเศรษฐกิจมันเป็นจริงตามนั้น ลูกเต๋ามีตั้งหกด้าน มนุษย์มักจะเลือกมองในด้านที่ตัวเองอยากมองเสนอ ผมเองก็เป็น ผมถึงต้องอ่านความคิดเห็นคนอื่นที่เห็นต่างจะได้สะท้อนความคิดตัวเอง
ผมอยากให้ผู้อ่านพิจารณาด้วยตัวเอง ไม่ใช่เชื่อเพราะเป็นความเห็นใคร ไม่ได้เชื่อเพราะส่ิงที่ร่ำเรียนมา ผมไม่ได้เถียง Paul Krugman นะเห็นด้วย(หลายๆ คนคงคิดว่า นี่แหละกำลังเถียงอยู่ 555) แต่ไม่ทุกมุมเพราะขอบเขตของบทความ มันถูกตีไว้แค่นั้น ผมเทียบไม่ได้เลยกับคนที่ได้รางวัลโนเบล เอาไว้ตอนสองดีกว่าจะมาขยายความเรื่องพวกนี้ต่อ