NFT ย่อมาจาก Non fungible token แปลว่า ไม่เหมือนกัน, ไม่สามารถแลกกันได้ กล่าวคือ เป็น token ที่มีความเฉพาะและไม่เหมือนใคร มีความแตกต่างกันทุกๆเหรียญ เช่น ธนบัตร 20 บาท ทุกใบเหมือนกัน แต่รูปภาพโมนาลิซ่ามีเพียงหนึ่งเดียว
NFT จึงเปิดโอกาสให้เราสามารถพิสูจน์ความเป็นเจ้าของและความแท้ของสินค้า
NFT ต่างจาก Cryptocurrency อย่างไร
สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างคริปโตเคอร์เรนซี่กับ NFT ก็คือ เงินคริปโตเคอร์เรนซี่เป็นสินทรัพย์ที่สามารถทดแทนได้ด้วยสิ่งของประเภทเดียวกัน (Fungible)
ตัวอย่างเช่นเพื่อนยืมเหรียญ Stablecoin ของเราไป 1 USDT เมื่อนำมาคืน เค้าสามารถโอนเหรียญมูลค่า 1 USDT หน่วยไหนมาคืนก็ยอมรับได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นจะต้องเป็น USDT หน่วยเดียวกันกับที่เราโอนให้เค้าไป
แต่ในทางกลับกัน หากเรามีภาพเขียนโมนาลิซ่าซึ่งแปลงมาให้อยู่ในรูปแบบ NFT แล้วมีเราเป็นเจ้าของ และเพื่อนมา “ขอเช่า” ภาพๆนี้ไปแสดงโชว์ในงานศิลปะเป็นเวลา 2 วัน สามารถทำได้
เราสามารถเขียนสิทธิลงไปใน Smart contract ให้เค้าได้ ว่าให้เพื่อนคนนี้ยืมภาพ NFT นี้ไปแสดงในงานศิลปะ 2 วัน หลังจากนั้นให้ส่งคืนเราโดยอัตโนมัติ ห้ามใช้เกินกว่านั้นและห้ามโอนภาพนี้ให้คนอื่น และเวลาส่งคืนต้องเป็นภาพเดิมที่เราส่งไปให้เท่านั้น ไม่อย่างนั้นก็ถือว่าภาพนั้นเป็นภาพปลอมไม่มีมูลค่า
จะเห็นว่าสิ่งของที่เป็น NFT นั้นจะไม่สามารถทดแทนได้ด้วยสิ่งของชิ้นอื่น แม้จะเป็นสิ่งของประเภทเดียวกันก็ตาม เช่นภาพวาดก็ต้องเป็นภาพวาดเดิมเท่านั้นถึงจะเป็นของแท้
มาตรฐานการสร้าง NFT
ERC-721 คือมาตรฐานที่ทำให้ข้อมูลที่เป็นดิจิทัลหรือโทเคนนั้นมีความเฉพาะตัว (Non-Fungible) โดยส่วนมากมักจะถูกนำไปใช้กับของสะสมต่าง ๆ ที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ที่ต้องการให้มีความหายากและไม่เหมือนใคร ไม่สามารถทำซ้ำได้ เพราะว่ามันมีโค้ดที่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นเจ้าของอย่างชัดเจน ในทางกลับกัน ERC-20 นั้นเป็นมาตรฐานที่จะทำให้ทุก ๆ โทเคนที่ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้มาตรฐานดังกล่าวมีความเหมือนกันข้อเสียที่ใหญ่ที่สุดของ ERC-721 คือ การใช้แกสที่สูงในการเขียน smart contract ดังนั้น ศิลปินที่ต้องการ mint งานจะเจอกับค่าแกสจำนวนมาก
ERC-1155 คือมาตรฐานสามารถนำไปใช้ได้กับทั้ง Non-fungible token และ fungible token ERC-1155 มีความเร็วมากกว่าใช้พื้นที่จัดเก็บบนบล๊อคเชนต่ำกว่าและมีการใช้แกสอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าถึง 90% โดยมาตรฐานนี้ถูกสร้างโดย Enjin (Gaming Blockchain) ปัญหาเดียวของมันคือ ทางเทคนิคการติดตามความเป็นเจ้าของทำได้ยากกว่าจากเทคนิคการเก็บข้อมูลบน Ethereum log
ลิขสิทธิ์ของ NFT
ข้อที่ต้องทราบของ NFT คือ ความเป็นเจ้าของ NFT ไม่ได้ส่งมอบลิขสิทธิ์ของชิ้นงานนั้น ผู้สร้างชิ้นงานนั้น อาจจะนำผลงานเดิมมาสร้าง NFT ชิ้นใหม่ที่หน้าตาเหมือนกันได้ ดังนั้น NFT จึงเปรียบเสมือนเพียงหลักฐานความเป็นเจ้าของโดยไม่จำเป็นต้องได้รับลิขสิทธิ์ในตัว NFT
Royalty fee
ข้อดีของ NFT สำหรับผู้สร้างงานศิลปะคือ นอกจากศิลปินจะได้รับเงินจากการขายครั้งแรกแล้ว การขาย NFT ยังสามารถตั้งค่าให้เราสามารถเก็บ Royalty fee สำหรับการขายเปลี่ยนมือครั้งถัดไปอีกด้วย โดยเป็นสิทธิ๋ให้กับผู้ mint งานลงบนบล๊อคเชน
by Admin Aof