ก.ล.ต. ยื่น DE ปิดกั้น Binance และ Bybit

ก.ล.ต. ยื่น DE ปิดกั้น Binance และ Bybit

จากประเด็นร้อนที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ออกข่าวประชาสัมพันธ์ “ประสานหน่วยงานภาครัฐปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงแพลตฟอร์มผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต” โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ดังนี้

“ปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงแพลตฟอร์มผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย” 

“รวมทั้งเป็นการป้องกันมิให้มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการนำทรัพย์สินจากการกระทำผิดไปฟอกเงิน”

“ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้บริการแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีเวลาบริหารจัดการบัญชีก่อนที่จะไม่สามารถใช้บริการได้”

“ก.ล.ต. ขอเตือนประชาชนและผู้ลงทุนให้ระมัดระวังการใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และยังมีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวง(scam) รวมถึงความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน”


มติในที่ประชุมของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

เมื่อวันที่ 19 เมษายน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีมติให้ ก.ล.ต. จำเป็นต้องส่งข้อมูลผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ซึ่งในข่าวประชาสัมพันธ์มีเพียง Binance และ Bybit  ซึ่งเชื่อว่ายังมีผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลมีมากกว่าที่แจ้งไว้ โดยทั้ง Binance และ Bybit  เคยมีกรณีกับ ก.ล.ต. ทั้งคู่

อดีตต้องแก้ไข อนาคตต้องป้องกัน

ผมเข้าใจดีว่า ก.ล.ต. พยายามที่จะเตือนนักลงทุน ก็ต้องขอชื่นชมในกระบวนการทำงาน แต่ก็มีหลายมุมที่กระทบต่อความรู้สึกนักลงทุนที่ออกมาต่อต้าน สืบเนื่องจากในอดีต กรณี Zipmex ซี่งได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เป็นศูนย์ซื้อขายสินทรพัย์ดิจิทัล แต่เกิดปัญหาลูกค้าไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ และปํญหาเหล่านี้ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ ก.ล.ต. ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข ส่วนตัวก็อยากให้นักลงทุนเข้าใจว่าเรื่องในอดีตที่ต้องแก้ไขก็ต้องแก้ไข เรื่องในอนาคตที่ต้องป้องกันก็ต้องป้องกัน เรื่องนี้ต้องเข้าใจ ก.ล.ต. แต่การทวงถามก็เป็นสิทธิที่ถามได้ 

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยียังเกาไม่ถูกที่คัน

อย่างไรก็ตาม ผมยังไม่เห็นด้วยกับแนวทางการป้องกันดังกล่าว และในเอกสารของ ก.ล.ต. ควรแยกเรื่อง การปิดกั้นการเข้าถึงแพลตฟอร์ม และการฟอกเงินออกจากกัน มองว่าขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของ ก.ล.ต. คือผู้ที่ออกใบอนุญาตให้กับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Exchange ในประเทศไทยการทำให้กฏหมายถูกบังคับใช้ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่การกล่าวถึงเรื่องการฟอกเงิน มองว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด แต่ก็เข้าใจว่าเป็นบทบาทและหน้าที่ของ ก.ล.ต. ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผมคิดว่าการดำเนินการเรื่องหนึ่งเพื่อผลลัพท์สองวัตถุประสงค์ถ้ามันไม่เกี่ยวข้องกันจริง ๆ มันจะสื่อสารออกมาได้ยาก และส่วนตัวเห็นว่าการปิดกั้นนี้ตอบแค่เรื่องเดียวคือเรื่องบังคับใช้ทางกฏหมายซึ่งส่วนตัวคิดว่าห้ามไม่ได้จริงทำได้แค่เพียงให้เห็นเชิงสัญลักษณ์หรือพูดง่าย ๆ คือถูกตีตราว่าเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรพัย์ดิจิทัลเถื่อนนั่นเอง ส่วนเรื่องฟอกเงินผมคิดว่าไม่น่ามีผลเท่าไหร่

การปิดกั้นไม่ได้ช่วยลดมิจฉาชีพ เค้าแค่เปลี่ยนวิธีการฟอกเงิน

ทั้งนี้ การปิดกั้นเว็ป Exchange นอกมีเหตุผลตามที่ ก.ล.ต. แจ้งไว้คือ จะช่วยลดปัญหามิจฉาชีพ มองว่ายังไม่มีงานวิจัยที่ให้ข้อมูลออกมาเป็นตัวเลขที่จะมายืนยันได้ ซึ่งความเป็นจริงคนที่คิดจะฟอกเงิน การปิดกั้นไม่สามารถจัดการได้ นอกจากนี้ จากการปิดกั้น 2 แบรนด์นี้ คาดว่าจะมีกลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดคือ “มิจฉาชีพ” ที่จะใช้จังหวะนี้แทรกเข้าไปในกลุ่มคนที่กำลังเดือดเนื้อร้อนใจกับการที่จะต้องโอนย้าย สติในการที่จะคิดก็น้องลง ใครมาชักชวนอะไรก็จะง่ายขึ้น

ถ้ากระทรวง DE ปิดกั้น Binance กับ Bybit จริง ใครได้ประโยชน์?

หากปิดกั้น 2 แบรนด์นี้ Exchange ไทยจะได้ประโยชน์หรือไม่? หลายๆ คนคิดว่า Exchange ไทยได้ประโยชน์ ผมว่าได้ส่วนหนึ่งแหละคือหน้าใหม่ แต่รุ่นเก๋าผมว่าน่าจะไปที่อื่นเนื่องจาก Feature หรือ Function ของ Exchange ไทย ไม่ตอบโจทย์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือคนจะย้ายไป Exchange นอก ที่มี Feature คล้าย ๆ กันและไม่โดนปิดกั้น แนวทางการแก้ปัญหาคือ หากมองว่า P2P เป็นช่องทางที่มีการฟอกเงิน ก็ควรจะแก้ปัญหาที่ประเด็น P2P เพราะการปิดกั้น ถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการเลือกซื้อขายในช่องทางที่มีสภาพคล่องที่สูง

การแก้ปัญหามิจฉาชีพที่ดีที่สุดคือการให้ความรู้

ผมเชื่อว่าภาครัฐพยายามที่จะปกป้องนักลงทุนโดนการปิดกั้นไม่ให้เจอ Scam แต่ความเป็นจริงเราไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้ ให้ข้อมูลความเสี่ยง เพราะพวกที่เป็น Scam เปลี่ยนรูปแบบตลอดเวลา การปิดกั้นจะทำให้นักลงทุนตามไม่ทันรูปแบบของการ Scam แนะนำการแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องเริ่มด้วย Mutual Trust ไว้วางใจกันทั้ง 2 ฝ่าย ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากคนในอุตสาหกรรม ช่วยกันสอดส่องและป้องกัน 

วิธีคิดเป็นเรื่องที่สำคัญ VPN ก็มีความเสี่ยง

VPN คือคำตอบจริงหรือไม่? ทุกทางเลือกมีความเสี่ยง คุณอาจถูกผู้ให้บริการดักข้อมูลได้ สิ่งที่จะเป็นเกราะป้องกันในระยะยาวคือเรื่องของวิธีคิดของคนในยุคปัจจุบันในโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งต้องคิดอยู่เสมอว่าไม่สามารถไว้ใจใครได้ 100% แม้ว่าจะมีหน่วยงานที่คอยกำกับดูแล แต่ก็อาจดูแลได้ไม่ครอบคลุมทุกคน ทุกเรื่องพื้นฐานคือทุกคนจะต้องพึ่งพาตัวเอง หาวิธีที่จะยืนยันให้ได้ว่าสิ่งที่เราคิดเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เพราะในโลกของอินเทอร์เน็ตถูกสร้างขึ้นมาได้ทุกอย่าง ทุกคนจึงควรมีทักษะเรื่อง Cyber Security เข้าใจเรื่องการยืนยันตัวตน เข้าใจเรื่อง Private Key เพื่อที่จะเอาตัวรอด และปกป้องจาก Scam ในอินเทอร์เน็ต สำคัญที่สุดคือต้องมีความตระหนักรู้ มีสติในโลกของ Cyber ไปพร้อม ๆ กัน

กลับไปยังบล็อก

แสดงความคิดเห็น

โปรดทราบว่าความคิดเห็นจะต้องได้รับการอนุมัติก่อนที่จะได้รับการเผยแพร่