Bitcoin ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนมีอิสระทางการเงิน แต่ปัจจุบันได้มีกฎระเบียบมากมายที่พยายามควบคุมการเงินที่เราใช้กันอย่างมาก ซึ่งการใช้ Bitcoin แบบไม่ต้องยืนยันตัวตน(No-KYC) นั้น จึงเป็นทางออกที่ช่วยให้เราสามารถใช้เงินได้อย่างเป็นส่วนตัวและอย่างเสรี โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครมาควบคุมหรือยึดเงินของเราไป
KYC คืออะไร?
KYC หรือ "Know Your Customer" คือ กระบวนการที่ธุรกิจต้องรู้จักลูกค้าของตัวเอง โดยการขอข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ทั้งชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ปัจจุบัน เบอร์โทรศัพท์ และเลขบัตรประชาชน วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อป้องกันการฉ้อโกงและอาชญากรรมทางการเงินต่าง ๆ
ปัญหาของ KYC คืออะไร?
แม้ว่า KYC จะมีจุดประสงค์ที่ดี เช่น ป้องกันการฉ้อโกงและอาชญากรรมทางการเงิน แต่การ KYC นั้นกลับสร้างปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมหาศาลในการจัดการการ KYC เช่น ในยุโรปต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง 144 พันล้านยูโรต่อปีในการจัดการการ KYC แต่สามารถยึดเงินจากอาชญากรทางการเงินได้เพียง 1.2 พันล้านยูโรเท่านั้น
ทั่วโลกเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและป้องกันการฟอกเงินถึง 304 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับยึดเงินผิดกฎหมายได้เพียง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเรื่องข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลได้ง่าย เช่น กรณี MobiKwikในอินเดียที่ข้อมูล KYC ของลูกค้าถูกแฮกเกอร์ขโมยไปและนำไปขายในตลาดมืด รวมถึงกระบวนการที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน เพราะลูกค้าต้องส่งเอกสารจำนวนมากและรอการตรวจสอบ
Bitcoin แบบไม่ต้องยืนยันตัวตนคืออะไร?
Bitcoin แบบไม่ต้องยืนยันตัวตน คือ Bitcoin ที่ได้มาโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอน KYC ทำให้ไม่มีประวัติว่าใครเป็นเจ้าของ เราสามารถรับ Bitcoin แบบไม่ต้องยืนยันตัวตนได้ได้หลายวิธี เช่น
วิธีรับ Bitcoin แบบไม่ต้องยืนยันตัวตน
1. ซื้อผ่าน Decentralized exchange
Decentralized exchange เช่น Bisq และ HodlHodl เปิดโอกาสให้เราซื้อ Bitcoin โดยตรงจากผู้ขายรายอื่น ไม่ต้องผ่านตัวกลาง และไม่ต้องยืนยันตัวตน แพลตฟอร์มเหล่านี้รองรับวิธีการชำระเงินที่หลากหลาย ทั้งการโอนเงิน เงินสด หรือแม้แต่การแลกเปลี่ยนกับสินค้าและบริการ
2. ขุด Bitcoin ด้วยตนเอง
การขุด Bitcoin เป็นวิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดในการได้ Bitcoin แบบไร้ตัวตน คุณสามารถลงทุนซื้ออุปกรณ์ขุดและเริ่มขุดด้วยตัวเอง หรือเข้าร่วมกับกลุ่มขุด (Mining Pool) ที่ไม่ต้องยืนยันตัวตน แม้จะต้องใช้เงินลงทุนสูงและมีความรู้ทางเทคนิคพอสมควร แต่ก็เป็นวิธีที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวที่สุด
3. รับชำระเป็นค่าสินค้าและบริการ
หากคุณมีธุรกิจหรือให้บริการ การรับชำระเป็น Bitcoin เป็นอีกทางเลือกที่ดี คุณสามารถสร้าง Bitcoin wallet และรับชำระเงินจากลูกค้าได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านระบบชำระเงินผ่านธนาคารแบบดั้งเดิม วิธีนี้ไม่เพียงช่วยให้คุณได้ Bitcoin แบบไม่ต้องยืนยันตัวตน แต่ยังช่วยประหยัดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมอีกด้วย
4. ใช้บริการ Lightning Network
Lightning Network เป็นเครือข่ายชั้นที่สอง(Layer 2)ของ Bitcoin ที่ช่วยให้การโอนเงินเร็วขึ้นและค่าธรรมเนียมถูกลง เราสามารถเปิดช่องทางการชำระเงิน (Payment Channel) และรับ Bitcoin ผ่านเครือข่ายนี้ได้โดยไม่ต้องยืนยันตัวตน เหมาะสำหรับการรับชำระเงินจำนวนเล็กๆ บ่อยๆ เหมาะกับร้านค้าที่รับชำระเป็น Bitcoin เนื่องจากไม่เสียค่าธรรมเนียมใด ๆ
5. แลกเปลี่ยนแบบตัวต่อตัว
การแลกเปลี่ยน Bitcoin กับคนที่คุณรู้จักและไว้ใจโดยตรงเป็นอีกวิธีที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว คุณสามารถนัดพบและแลกเปลี่ยนโดยตรง หรือใช้แพลตฟอร์มที่เชื่อถือได้เป็นตัวกลาง
ข้อควรระวังในการรับ Bitcoin แบบไร้ตัวตน:
- ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มหรือคู่ค้าให้ดี
- ศึกษาวิธีการใช้งานและระบบความปลอดภัยให้เข้าใจก่อนเริ่มใช้งาน
- เริ่มต้นด้วยจำนวนเงินน้อยๆ ก่อนเพื่อทดสอบระบบ
- ระวังการหลอกลวงและมิจฉาชีพ
- เก็บรักษารหัสและ Private Keys ให้ปลอดภัย
10 ประโยชน์ของ Bitcoin แบบไม่ต้องยืนยันตัวตน
1. ความเป็นส่วนตัวสูงสุด
การใช้ Bitcoin แบบไม่ต้องยืนยันตัวตนช่วยให้คุณรักษาความเป็นส่วนตัวได้อย่างสมบูรณ์ เพราะไม่มีใครรู้ว่าคุณถือ Bitcoin อยู่เท่าไหร่ ไม่มีประวัติการทำธุรกรรมที่เชื่อมโยงกับตัวตนของคุณ และช่วยปกป้องข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคลได้อย่างดีเยี่ยม
2. อิสระในการใช้จ่าย
คุณสามารถใช้จ่าย Bitcoin ได้อย่างอิสระ โดยไม่มีการตรวจสอบหรือจำกัดวงเงิน สามารถส่งเงินไปที่ไหนก็ได้ทั่วโลก และไม่มีใครสามารถบล็อกธุรกรรมของคุณได้ ทำให้มีความคล่องตัวในการทำธุรกรรมสูง
3. ปลอดภัยจากการยึดทรัพย์
ข้อดีคือรัฐบาลหรือหน่วยงานใดๆ ไม่สามารถยึด Bitcoin ของเราได้ เราเป็นเจ้าของเงินของคุณอย่างแท้จริง และไม่ต้องกังวลเรื่องการอายัดบัญชีเพราะไม่มีใครสามารถบล็อคบัญชีเราได้ ทำให้ทรัพย์สินของเราปลอดภัยจากการแทรกแซงจากภายนอก
4. เข้าถึงได้ตลอดเวลา
ระบบเปิดให้ใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน ไม่มีวันหยุดหรือเวลาทำการ ทำให้คุณสามารถจัดการเงินได้ทุกที่ทุกเวลาตามที่ต้องการ ไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาเหมือนธนาคารทั่วไป
5. เสริมความแข็งแกร่งให้เครือข่าย
การใช้ Bitcoin แบบไม่ต้องยืนยันตัวตนช่วยลดการควบคุมจากรัฐบาล เพิ่มการกระจายอำนาจของระบบ และสนับสนุนเสรีภาพทางการเงินให้กับผู้ใช้ทุกคน ทำให้เครือข่าย Bitcoin มีความเป็นอิสระมากขึ้น
6. ปกป้องข้อมูลส่วนตัว
เนื่องจากไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนตัว จึงไม่มีความเสี่ยงที่ข้อมูลจะรั่วไหล ปลอดภัยจากการแฮกข้อมูลส่วนบุคคล และลดความเสี่ยงจากการโจรกรรมข้อมูลที่อาจเกิดขึ้นได้ในระบบที่ต้องยืนยันตัวตน
7. กู้ยืมเงินแบบไม่เปิดเผยตัวตน
คุณสามารถใช้บริการทางการเงิน เช่น การกู้ยืมได้ โดยใช้ Bitcoin เป็นหลักประกัน ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยประวัติทางการเงิน และมีความยืดหยุ่นในการใช้บริการทางการเงินมากกว่าระบบธนาคารทั่วไป
8. บริจาคเงินได้แบบไม่ต้องเปิดเผยตัวตน
เปิดโอกาสให้เราสามารถสนับสนุนองค์กรหรือโครงการที่เราเชื่อมั่นได้ โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนของเรา ช่วยหลีกเลี่ยงการตรวจสอบทางการเมืองและรักษาความเป็นส่วนตัวในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม
9. สำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
การเก็บ Bitcoin แบบไม่ต้องยืนยันตัวตนเป็นวิธีที่ดีในการสำรองเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ทำให้มีเงินพร้อมใช้เมื่อเกิดวิกฤตการเงิน เช่น หากประเทศเกิดสงครามหรือเงินเฟ้อรุนแรงคล้ายกับหลาย ๆ ประเทศ และไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินของรัฐที่อาจเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
10. เรียนรู้ Bitcoin Ecosystem
เปิดโอกาสให้คุณได้ทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เรียนรู้การทำธุรกรรมแบบต่างๆ และเข้าถึงบริการทางการเงินที่หลากหลายใน Bitcoin ecosystem ได้อย่างเต็มที่
วิธีการเก็บรักษา Bitcoin ให้ปลอดภัย
สำหรับการเก็บรักษา Bitcoin แบบไม่ต้องยืนยันตัวตนให้ปลอดภัย แนะนำให้ใช้ Hardware Wallet เนื่องจากมีการแยกการเก็บ Private Keys ออกจากอินเทอร์เน็ต สามารถป้องกันการแฮกได้ดีที่สุด มีระบบสำรองข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และมีการอัพเดทระบบความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ
บทสรุป
Bitcoin แบบไม่ต้องยืนยันตัวตนเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวทางการเงิน ช่วยให้เราใช้เงินได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาควบคุม ยึดหรือตรวจสอบ ในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลส่วนตัวมีความเสี่ยงสูง การปกป้องความเป็นส่วนตัวทางการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
หมายเหตุ: บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น ไม่ใช่คำแนะนำทางการเงิน ผู้อ่านควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจใช้งาน
อ้างอิง
จากบทความ "The benefits of no-KYC Bitcoin" โดย Brady Noah (พฤษภาคม 2024)