หาเหรียญใน Hardware ไม่เจอ

6 ปัญหาที่ทำให้คุณหาเหรียญใน Hardware Wallet คุณไม่เจอ

ช่วงนี้มีคนมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของการบริหารจัดการกระเป๋าหาเหรียญของตัวเองไม่เจอ โอนออกไปแล้วยังไม่ถึงสักที หลากหลายปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่พึ่งเคยเกิด จริง ๆ แล้วปัญหาเหล่านี้เกิดมาแล้วในอดีตเพียงแต่รูปร่างของปัญหานี้เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ วันนี้ผมจะมาสรุปปัญหาที่ผมมักจะถูกถามบ่อย ๆ เกี่ยวกับเรื่องของโทเค็นและกระเป๋ามาให้เพื่อนได้รู้จักกัน ผมพอจะสรุปออกมาได้เป็น 6 ปัญหาหลัก ๆ ได้ดังนี้

โอนผิด Address

กรณีนี้เป็นปัญหาคลาสสิคของคนที่เพิ่งเข้ามาในโลกของคริปโท สมัยก่อนตอนที่ผมเพิ่งเริ่มเข้ามาใหม่ ๆ เคสนี้เจอกันประจำ สาเหตุเพราะว่าในแอพพลิเคชั่นสมัยสมัยก่อน มันไม่ค่อยได้มีการตรวจสอบว่าแอดเดรสนี้เป็นแอดเดรสที่ถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ แต่ในปัจจุบันรูปแบบของปัญหานี้มันก็เปลี่ยนไประดับหนึ่งตรงที่แอพพลิเคชั่นมันสามารถที่จะตรวจสอบมาตรฐานกระเป๋าได้  แต่ก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องของการที่คนไม่ตรวจสอบอยู่ดี หยิบเอาเลขกระเป๋าผิดอันมาส่งกันอยู่ดี  

Wallet Address Format

ผมเคยให้เทคนิคในการตรวจสอบก่อนที่จะโอนหลายครั้งที่มีคนถามคือ เราตรวจสอบเลขกระเป๋าเฉพาะหัวแล้วก็ท้ายห้าตัวอักษรก็เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าเราโอนกระเป๋าถูก สาเหตุหนึ่งที่สมัยก่อนผมไม่อยากตรวจสอบเพราะในกระเป๋ามันยาวมาก ใครจะไปตรวจสอบไหว แต่พอเปลี่ยนมาเป็นเช็คหัวกับท้ายปริมาณของการตรวจสอบก็ลดลงอย่างมีนัยยะ ทำให้เราไม่ขี้เกียจในการตรวจสอบ และจริง ๆ การตรวจสอบเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วเพราะโอกาสที่ตัวเลขข้างหน้าและหลังห้าตัวเลขแรกจะซ้ำกันและเปลี่ยนที่ตรงกลางแทบจะไม่มีเลย  

ลองนึกสภาพว่าเวลาเราโอนเงินเราในบัญชีธนาคารเรายังตรวจสอบบัญชีธนาคารที่เราจะโอนไปเลยแล้วเวลาที่เราโอนในบล็อกเชนเราจะไม่ตรวจสอบหรือ ในปัจจุบันอาการที่ผมเคยเจอในอดีตอย่าง เช่น มีมัลแวร์ชนิดที่คอยดักเปลี่ยนแอดเดรสปลายทางจากหน่วยความจำไปเป็นแอดเดรสของพวกแฮกเกอร์ก็ยังมีอยู่เพราะฉะนั้นการตรวจสอบจึงเป็นเรื่องที่ช่วยป้องกันการถูกโจมตีในลักษณะแบบนี้ได้ ในอดีตคนที่ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนค่อนข้างมากทำให้มัลแวร์ในลักษณะแบบนี้เข้าโจมตีได้ง่าย แต่ในปัจจุบันผมเห็นคนที่ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนน้อยลง ทำให้มัลแวร์พวกนี้ลดปริมาณลงแต่ว่าก็ยังมีเคสหรือกรณีที่ให้เห็นพบเจออยู่ดี

เพราะฉะนั้นการตรวจสอบแอดเดรสที่จะส่งเป็นเรื่องที่ต้นทุนต่ำแต่มีประสิทธิภาพสูงผมแนะนำให้ทุกคนตรวจสอบแอดเดรสก่อนทำการโอนทุกครั้งอย่าลืมเช็คหัวเช็คท้ายก่อนกดส่งด้วยนะครับ


โอนผิด Blockchain

สำหรับปัญหานี้ผมรู้สึกค่อนข้างโชคดีที่ได้มีโอกาสเข้ามาในโลกของคริปโทในยุคก่อนหน้านี้ มันทำให้เราได้เข้าใจในเรื่องของการโอนออกในแต่ละเชน คือสมัยก่อนเชนที่รองรับโทเค็นมันมีแค่ Ethereum เชนเดียว ทำให้เราไม่มีมีความจำเป็นจะต้องเลือกเชนเวลาโอนออก แต่ในปัจจุบันเวลาเราเข้ามาดูในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอล ปรากฏว่าเราจะพบปัญหาเรื่องแล้วเราจะเลือกเชนไหนดีว่ะ มันมีเชนเยอะแยะมากมาย  

ปัญหานี้มันเริ่มมาจากมีการก๊อปปี้เอาโค้ดของ Ethereum มาทำเป็นเชนของตัวเอง ทำให้มาตรฐานของ Ethereum มันเข้ากันได้กับเชนที่ก๊อปปี้มา รูปแบบของแอดเดรสก็เหมือนกันอย่างกับแกะ หมายความว่ามันสามารถโอนข้ามเชนกันได้แต่มันจะต้องมีสะพานที่จะเชื่อมระหว่างเชนซึ่งสะพานในที่นี้ก็คือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอลหรือ Exchange นั่นเอง มันเลยทำให้คนที่ไม่ได้เข้าใจจริง ๆ โอนไปผิดเชน

 

ถ้าเราโอนไปเชนไหนหลักการก็คือแค่เราไปดูกระเป๋าที่เชนนั้นซึ่งมันจะมีเลขเดียวกันแต่อยู่คนละเชน มันเหมือนเราอาศัยอยู่บ้านหลังหนึ่งที่มีเลขที่เลขที่บ้านเดียวกัน แต่อยู่คนละจักรภพ  เพราะฉะนั้นเราต้องไปหาบ้านเลขที่นั้นที่อยู่ในจักรภพนั้นให้ถูกเราถึงจะเจอ 

ปัญหานี้จะไม่ได้พบกับเชนที่เป็นสมาร์ทคอนแทรคแพลตฟอร์มที่เขียนขึ้นมาใหม่เองโดยที่ไม่ได้ก๊อปปี้ Ethereum อย่างเช่น Cosmos Polkadot เชนพวกนี้ทางศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถที่จะตรวจสอบได้และสามารถที่จะเขียนโปรแกรมให้ป้องกันคนโอนไปผิดเชน ต่างกับในกรณีที่เป็น ERC20 Compatible บน Ethereum หน้าใหม่ที่ไม่เข้าใจจะเจอปัญหานี้บ่อยมาก

ถ้าโอนผิดไปแล้วทำยังไงดี วิธีแก้ก็คือ ก่อนอื่นให้ตั้งสติดี ๆ หายใจเข้าลึก ๆ ไม่ต้องรน ไม่ต้องตระหนก แค่เราเปลี่ยนเน็ตเวิร์คให้ตรงกับเน็ตเวิร์คที่เราโอนออกมาโดยดูจากเลขกระเป๋าให้ไปดูว่ามันลงท้ายด้วยเลขตัวหลังเลขอะไรแล้วปรับเน็ตเวิร์คให้ตรงกับเชนนั้นถ้าเราโอนไป BNB Smart Chain ก็ต้องเลือก BNB Smart Chain ถ้าเราโอนไป Tron ก็ต้องเลือก Tron ถ้าเราโอนไป Ethereum เราก็เลือก Ethereum 

ขอย้ำนะครับใครที่ซื้อบิทคอยน์แล้วโอนออกด้วยเชนอื่นที่ไม่ใช่บิทคอยน์หรือไรนิ่งเน็ตเวิร์กแล้วหาไม่เจอ มันเป็นเพราะว่าคุณโอนผิดเชนนะครับบิทคอยน์จะไม่ได้อยู่ในเชนอื่นนะครับมันจะอยู่อยู่ที่เชนของบิทคอยน์เท่านั้นถ้าไปอยู่บน Ethereum หรือ BNB Smart Chain บิทคอยน์ตัวนั้นเป็นแค่สภาพของสัญญาตัวหนึ่งที่บอกว่าเราสามารถเอาไปแลกเป็นบิทคอยน์ได้เท่านั้นเพราะฉะนั้นเวลาที่เราโอนมาที่ Ethereum มันจะกลายเป็นโทเค็นแล้วคุณก็จำเป็นจะต้องไปแอดโทเค็นนั้นเข้ามาใน Software อีกทีถึงจะเจอนะครับ

ยังไม่ได้เพิ่มเหรียญเข้าไปในแอพพลิเคชั่น

ปัญหานี้หน้าใหม่เจอทุกคน เพราะว่าความเข้าใจเรื่องของโทเค็นกับเนทีฟโทเค็นให้ทำความเข้าใจด้วยการอ่านยังไงก็เข้าใจยาก  มันต้องมาลองลงมือปฏิบัติถึงจะเข้าใจว่าโทเค็นกับเนทีฟโทเค็นที่มีสภาวะเหมือนแก๊ส ในการที่ทำให้สมาร์ทคอนแทรคทำงานมันต่างกันยังไง 

นอกจากปัญหาที่แล้วเรื่องโอนผิดเชน หลาย ๆ คนก็จะเจอปัญหาที่โอนโทเค็นมาใน Hardware Wallet แล้วหาไม่เจอ ในอดีตเวลาเพิ่มโทเค็นเข้ามาในกระเป๋ายากกว่าสมัยนี้เยอะ คือมันต้องไปไล่ดูสิ่งที่เรียกว่าคอนแทรคแอดเดรสแล้วก็มาเพิ่มโทเค็นเข้ามาในซอฟต์แวร์เองเรียกว่า Custom Token 


แต่ในปัจจุบันและหลายกระเป๋าจะแอดตัวคอนแทรคแอดเดรสเข้ามาในซอฟต์แวร์ให้โดยอัตโนมัติสำหรับโทเค็นที่ได้รับความนิยม สำหรับเหรียญใหม่ ๆ และยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก  เหรียญพวกนี้มีความจำเป็นที่เราจะต้องแอดคอนแทรคแอดเดรสเองอันนี้แหละที่ส่วนใหญ่จะหาไม่เจอ

วิธีแก้ก็ง่ายมากแล้วแต่แอพพลิเคชั่นที่คุณใช้ ถ้าคุณใช้ OneKey คุณแค่กดเครื่องหมายบวกตรงหน้าโทเค็นแล้วก็เลือกโทเค็นที่คุณต้องการเพิ่ม ถ้าไม่มีอยู่ในลิสต์ก็อาจจะต้องแอดโทเค็นเอง โดยส่วนใหญ่ผมก็จะใช้วิธีการไปดูใน Coinmarketcap  แต่จะต้องมีความระมัดระวังนิดหนึ่งเพราะผมเคยเจอในกรณีที่มันมีแฮ็กเกอร์มาปลอมแปลงตัวคอนแทรคแอดเดรสแล้วก็แปะรูปโลโก้ที่คล้ายกับของจริง ดังนั้นให้เราเลือกดูรายละเอียดจากต้นทางที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น อย่างเช่น Coinmarketcap เป็นต้น

ในกรณีที่เราใข้เมต้ามาร์ค แล้วต้องการจะแอดตัวโทเค็นนี้เข้าไปในเมต้ามาร์คเราสามารถแอดได้จาก Coinmarketcap โดยตรงเลยก็คือไปที่โทเค็นนั้นแล้วหาเชนที่เราต้องการจะแอดให้เจอแล้วกดตรงรูปหมาจิ้งจอกที่ Coinmarketcap เท่านี้โทเค็นคุณก็จะขึ้นเป็นลิสต์อยู่ในเมต้ามาร์ทเรียบร้อยแล้ว


Transaction ยังไม่ Confirm

ปัญหานี้บางคนอาจจะยังไม่เคยเจอกับตัว แต่ถ้าเคยเจอกับตัวแล้วบอกเลยว่าปวดหัวมาก ผมเองเคยเจอกับเหตุการณ์นี้มาก่อนเข้าใจความรู้สึกคนที่เจอแบบนี้แล้วทักมาหาผมเพื่อขอการแก้ไขดี ใครติดปัญหานี้เพิ่มเพื่อนในไลน์มาได้นะครับ @bitcast ถ้าแก้ไม่ได้หรือไม่เข้าใจ 

ในโลกของบล็อกเชนโดยเฉพาะในบิทคอยน์มันเป็นโลกของทุนนิยมโดยสมบูรณ์ กล่าวคือถ้าใครมีเงินมากคุณสามารถที่จะใช้ทรัพยากรของคุณในการเร่งธุรกรรมของคุณได้โดยแซงหน้าคนที่จ่ายค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมน้อย ถ้าใครเคยได้ยินสุภาษิตโบราณที่ว่า “เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย” คือกรณีแบบนี้เลยผมเคยโดนเพราะขี้เหนียวกับเรื่องค่าธรรมเนียมอยากเสียน้อย ๆ แต่สุดท้ายเสียมากกว่าเก่าในการเร่งธุรกรรมอีก แถมปวดหัวไปอีกหลายวันด้วย ค่าธรรมเนียมในการโอนบิทคอยน์มันจะถูกคำนวณออกมาตามปริมาณของดาต้าที่คุณใช้ ถ้าคุณจ่ายแบบมาตรฐานคุณก็จะไม่ช้ามากพอรับได้ แต่ถ้าคุณยอมจ่ายเพิ่มขึ้นอีกนิดคุณจะเร็วขึ้นมาก ปัญหาคือถ้าคุณขี้เหนียวขึ้นมาเมื่อไหร่  อยากจ่ายน้อยในหลาย ๆ กรณี เป็นเดือนยังไม่หลุดออกจาก Mempool เลย 

พอเวลาเราจ่ายค่าทำเนียมน้อยนักขุดแทบจะไม่สนใจที่จะปิดธุรกรรมคนที่เสนอค่าธรรมเนียมน้อย ๆ เลย สาเหตุเพราะว่ามันมีคนส่งคำสั่งการโอนหน้าใหม่ ๆ เข้ามาเต็มไปหมดเพราะฉะนั้นนักขุดก็จะเลือกคนที่เค้าให้ค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าเป็นเรื่องปกติในสังคมทุนนิยมอย่างบล็อกเชนของบิทคอยน์ ถามว่ามีวิธีแก้ไหม มีครับ สมัยก่อนวิธีแก้ที่ง่ายที่สุดก็คือ re-broadcast transaction มันจะมีเว็บไซต์ที่บริการให้เรา re-broadcast tx id นั้นเพื่อกระตุ้นให้นักขุดหยิบเอา tx id นั้นมาบรรจุเข้าไปใน block เพื่อปิดบันทึกเสียที  การ re-broadcast transaction มีทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงินซึ่งแบบเสียเงินก็จะมีประสิทธิภาพที่สูงกว่า ตัวบริการของ Mining Pool หลายๆ ที่ เช่น ViaBTC ก็จะมีบริการนี้เสริมสำหรับคนที่อยากแก้ไขธุรกรรมที่ยังอันคอนเฟิร์มอยู่ เราแค่ก๊อปปี้ tx id นั้นแปะลงไป แล้วให้เค้าเสนอค่าค่าใช้จ่ายว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ เมื่อเราเราจ่ายค่าใช้จ่ายใหม่แล้ว เค้าจะ re-broadcast transaction ทำให้นักขุดหยิบ tx id ของเราไปดำเนินการ

วิธีที่สองเป็นวิธีที่เรียกว่าให้ลูกดันแม่  ก็คือให้เราทำอีกหนึ่งธุรกรรมซึ่งจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงพอสมควร การทำแบบนี้จะทำให้นักขุดจะหยิบเอา tx id ของเราไปดำเนินการในกรณีที่มี tx id ที่ค้างก่อนหน้ามันก็จะถูกกวาดไปทำด้วยเพื่อที่ว่าจะได้ทำธุรกรรมอันปัจจุบัน

อีกวิธีหนึ่งสำหรับชาวบิทคอยน์ที่ใช้กันก็คือ RBF หรือ Replace-By-Fee ซึ่งถ้าใครใช้เทรเซอร์จำเป็นจะต้องเปิดการใช้งานก่อนโอน  เราถึงจะสามารถแก้ไขค่าฟรีในการส่งได้ถ้าหากว่าส่งไปแล้วมันไม่คอนเฟิร์ม tx id นั้น 

ส่วนปัญหาเรื่องของ pending transaction ในเชนอื่น อาจจะมีน้อยกว่าในบิทคอยน์เพราะว่าบิทคอยน์ยังเป็น Proof of Work อยู่  ส่วนเชนอื่นมีคนคุมหมดแล้วเพราะฉะนั้นเค้าจะบริหารจัดการรูปแบบที่สามารถที่จะควบคุมได้ต่างจากบิทคอยน์ที่เป็นการกระจายศูนย์อย่างสมบูรณ์ แต่ก็ยังมีในกรณีที่การส่งมันมีปริมาณที่หนาแน่นมาก ส่วนใหญ่ในกรณีนี้ก็สามารถที่จะเพิ่มค่าธรรมเนียมในการโอนเพื่อที่จะให้ธุรกรรมของตัวเองถึงก่อน หรือไม่ก็ยกเลิกธุรกรรมไปเลย


Application ยังไม่ Synced กับ Blockchain

ปัญหานี้ถ้าเราไปตรวจสอบอยู่ในบล็อกเชนเราจะเห็นว่ามันส่งสำเร็จ แต่พอมาดูในแอพพลิเคชั่นทำไมมันไม่มี ซึ่งสิ่งที่ผมมักจะตอบอยู่เสมอก็คือให้เราเชื่อในบล็อกเชน เพราะในบล็อกเชน จะเป็นความจริงที่มีอยู่หนึ่งเดียวเท่านั้น ส่วนที่แสดงผลไม่ถูกก็จะมาจากหลายสาเหตุ และสาเหตุหลัก ๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของ Cache ที่อยู่ในเครื่อง เพราะฉะนั้นการแสดงผลที่ไม่ถูกต้องก็แค่แก้โดยการเคลียร์หรือล้าง cache สที่มันมีอยู่ในเครื่องแล้วก็ให้มันทำการเชื่อมโยงหรืออัพเดทข้อมูลกับบล็อกเชนใหม่ก็จะทำให้การแสดงผลนี้ถูกต้อง

กระเป๋าถูก Compromised

ถ้าคุณเจอกรณีนี้ผมบอกเลยตัวใครตัวมันนะครับ กระเป๋าที่ถูก compromised ส่วนใหญ่จะมาจากกรณีที่ seed phrase ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะสร้าง private key ให้กับแอดเดรสของคุณ ถูกขโมยไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ซอฟต์แวร์แล้วมีช่องโหว่ หรือแม้แต่กระทั่งใช้ฮาร์ดแวร์แต่ถูกโจมตีโดยในลักษณะของการฟิชชิ่งหลอกให้คุณเอา seed phrase มาใส่ กรณีนี้เป็นกรณีเดียวที่ผมคิดว่าไม่มีทางแก้ไข ถ้าโจรได้ seed phrase ของคุณไปคุณไม่มีทางเอาเหรียญของคุณกลับมาได้อีกเลยเพราะเขาสามารถที่จะควบคุมกระเป๋าของคุณได้ทุกอย่าง  สามารถที่จะโอนเหรียญออกจากกระเป๋าของคุณได้  เขามีสิทธิ์ในการควบคุมกระเป๋าของคุณได้ทุกกรณี กรณีนี้เป็นกรณีที่แย่ที่สุดในบรรดาทุกข้อที่ผมยกตัวอย่างมา

ถึงแม้ว่าเราจะแก้ไขไม่ได้แต่กรณีนี้เราสามารถป้องกันได้ และวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือการสร้างภูมิคุ้มกันในการระมัดระวังการใช้งานแอพพลิเคชั่นหรือตัว Hardware Wallet ของคุณให้เป็นไปตามมาตรฐาน จำไว้ว่าสิ่งที่เปราะบางที่สุดในการถูกโจมตีก็คือจุดที่ต้องมีคนเข้าไปเกี่ยวข้อง ระบบหรือซอฟต์แวร์ออกแบบมาค่อนข้างปลอดภัยจุดที่เปราะบางคือจุดที่คนใช้ไม่รู้  เพราะฉะนั้นแฮ็กเกอร์ก็จะลงทุนที่จะโจมตีในจุดนี้เพราะมันได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการที่แฮ็กเกอร์เหล่านี้ลงทุนโปรดระมัดระวังในการใช้งานใช้งานตัวแอพพลิเคชั่นของคุณให้ดี  


บทสรุป

สำหรับในตอนนี้ก็คิดว่าคงจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่มีปัญหาที่หาเหรียญของตัวเองไม่เจอ   ทั้ง ๆ ที่ในบล็อกเชนก็มีอยู่ ไม่นับเรื่องที่ถูกขโมย seed phrase นะครับ 

สิ่งสำคัญที่ผมคิดว่าคนที่เป็นหน้าใหม่ ๆ ที่เข้ามาในโลกของคริปโทควรจะเข้าใจคือเรื่องของการเก็บสินทรัพย์ดิจิตอลของของตัวเองให้เป็น ผมมักจะพูดอยู่เสมอว่าคุณทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสร้างผลตอบแทนในโลกของคริปโทมากเท่าไหร่ แต่ตอนเสียถ้าคุณเสียจากการที่คุณไม่รู้  สิ่งที่คุณหามาได้หายไปในพริบตาจากการที่คุณไม่ระมัดระวัง การเติบโตของพอร์ตเป็นเรื่องสำคัญแต่การป้องกันไม่ให้เหรียญของคุณหายเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่า  อย่าลืมกลับมาระมัดระวังการใช้งานหรือการเก็บเหรียญของคุณให้ดี ๆ ผมคิดว่าคนที่เข้ามาในโลกของคริปโทควรที่จะเริ่มต้นจากตรงนี้ก่อน ขอบคุณครับ

กลับไปยังบล็อก

แสดงความคิดเห็น

โปรดทราบว่าความคิดเห็นจะต้องได้รับการอนุมัติก่อนที่จะได้รับการเผยแพร่